Breaking News

จบ ม.6 ทำปศุสัตว์อินทรีย์มีเก็บปีละแสนห้า เกษตรพอเพียง

จบ ม.6 ทำปศุสัตว์อินทรีย์มีเก็บปีละแสนห้า เกษตรพอเพียง


        นางกัญจนา ตัวสะเกตุ เกษตรกรบ้านนาเจียง ตำบลโคกงาม อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เกษตรกรดีเด่นสาขาอาชีพเลี้ยงสัตว์ระดับประเทศ ประจำปี 2556 อายุ 44 ปี จบการศึกษา ม.6 ได้เปิดเผยกับคณะผู้สื่อข่าวในโครงการสื่ออาสาสืบสานพระราชดำริ ที่จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระ ราชดำริ (สำนักงาน กปร.) เมื่อช่วงต้นเดือน พฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมาว่า เดิมตนและครอบครัวทำการเกษตรเช่นเดียวกับเกษตรกรรายอื่น ๆ ทั่วไป แต่ไม่ประสบผลสำเร็จตามที่หวังเอาไว้เพราะรายจ่ายมาก กว่ารายรับ




    ต่อมาได้มีโอกาสเข้าไปดูงานและเรียนรู้การทำการเกษตรแบบอินทรีย์โดยเฉพาะ การเลี้ยงสัตว์จากศูนย์พัฒนาปศุสัตว์ตามพระราชดำริ อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย จากนั้นก็นำความรู้มาทำที่บ้านโดยทางศูนย์ฯ ได้สนับสนุนพันธุ์สัตว์ให้มาเลี้ยง มี ไก่ไข่ ไก่ชี ไก่ไข่เพศผู้ ไก่งวง และหมูเหมยซาน โดยเลี้ยงแบบผสมผสานในแปลงเพาะปลูกพืชและเลี้ยงห่านไว้ทำหน้าที่เป็นยามดูแล สัตว์ร้ายที่จะเข้ามาทำร้ายสัตว์เลี้ยง

    “เมื่อก่อนปลูกแก้วมังกรประมาณ 300 ต้น ก็ต้องซื้อปุ๋ยขี้ไก่มาใส่เพื่อบำรุงต้นปัจจุบัน ไม่ต้องซื้อเพราะเลี้ยงไก่แล้วเอามูลไก่มาใช้ รอบบ้านปลูกกล้วยน้ำว้าเพื่อกินลูกและเอาลูกไปขาย ส่วนหยวกกล้วยจะนำมาหั่นผสมกับรำเป็นอาหารสัตว์ ” เกษตรกรดีเด่นปี 56 กล่าว

      นางกัญจนา เปิดเผยถึงขั้นตอนการเลี้ยงสัตว์แบบอินทรีย์ว่า จะขยายพันธ์ุสัตว์เองโดยนำลูกสัตว์ที่มีอายุประมาณ 1 เดือนมาเลี้ยงแบบอินทรีย์ เป็นการเลี้ยงแบบควบคู่ระหว่างขังในคอกเลี้ยงและปล่อยอิสระให้หากินในแปลง เพาะปลูก จึงไม่ต้องตัดหญ้าในแปลงปลูกพืชเพราะสัตว์จะคอยกัดกินหญ้า เป็นการประหยัดแรงงานและลดต้นทุนในการตัดแต่งสวนได้เป็นอย่างดี แมลงศัตรูพืชก็ลดลงเพราะสัตว์จะคอยจิกกินไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายหาซื้อสาร เคมีมากำจัดแมลงศัตรูพืช

      รายได้หลักของครอบครัวจะมาจากการเลี้ยงสัตว์ และปลูกพืชผสมผสานกัน ส่วนที่ได้เยอะหน่อยก็จากการขายลูกหมูเหมยซาน ซึ่งผู้ซื้อจะซื้อไปเลี้ยงต่อเพื่อขายเป็นหมูรุ่น มีลูกค้าจากหลาย ๆ ที่เข้ามาซื้อเป็นประจำ จากการมีรายได้ตรงนี้จึงทำให้เกษตรกรในพื้นที่ให้ความสนใจและเข้ามาร่วมทำ ปศุสัตว์อินทรีย์กันมากขึ้น จึงเกิดการรวมกลุ่ม โดยรวมกันผลิต มีการแลกเปลี่ยนผลผลิตกัน จากนั้นก็รวมกันขาย โดยจะมีการจัดทำบัญชีการผลิตของสมาชิกกลุ่มว่าผู้ใดมีไก่รุ่น มีลูกหมู จำนวนเท่าไหร่ที่ตรงกับความต้องการของผู้ซื้อ ก็จะนำมาขึ้นบัญชีไว้ เมื่อมีผู้มาสั่งซื้อก็จะนำมาขายให้ทันที

      “ก็ดำเนินชีวิตทำการเกษตรแบบเศรษฐกิจพอเพียงคือเมื่อมีและเหลือกินก็ขาย อย่างลูกหมูอายุแรกเกิด 1 เดือนจะขายตัวละ 1,000 บาท ไก่เนื้อ ขายกิโลละ 100 บาท ไก่ทำสำเร็จเป็นซากไก่ขายกิโลละ 180 บาท รวมเครื่องในด้วย ส่วนใหญ่จะมีผู้ซื้อโทรฯ มาสั่งล่วงหน้าในแต่ละครั้งว่าต้องการไก่กี่ตัว หมูกี่ตัว สมาชิกก็จะจับไก่ จับหมู มารวมกัน โดยพิจารณาสัตว์ที่มีคุณภาพมีน้ำหนักตามที่กำหนด ทุกคนก็จะได้เงินตามน้ำหนักที่เอามาขาย ปีหนึ่งก็มีรายได้เหลือเก็บจากการนี้ประมาณ 150,000 บาท ต่อคนเกษตรกรดีเด่นปี 56 กล่าว

      ในการบริหารกลุ่มนั้นนางกัญจนาเล่าว่าจะมีการแบ่งหน้าที่ชัดเจนใครดูแล งานอะไร ทุกวันที่ 1 ของเดือนจะประชุมกลุ่มครั้งหนึ่ง มีการระดมเงินออมไปฝากที่ธนาคาร ในวันที่ 2 ของทุกเดือน เดือนหนึ่ง ต่อคนจะมีเงินฝากธนาคารซึ่งเป็นเงินเหลือใช้จากการขายสัตว์และผลผลิตจากพืช สวน ไม่น้อยกว่า 1,000 บาทต่อคน

      “การดำเนินการเช่นนี้ดีที่ว่าได้มีเพื่อนพึ่งพาซึ่งกันและกัน มีการแลกเปลี่ยนสินค้าภายในกลุ่ม คนที่มีโรงสีก็จะช่วยสีข้าวให้กับเพื่อนสมาชิก คนที่ไปตลาด ก็เอาผักจากสมาชิกไปขาย จึงไม่ต้องกังวลว่าจะมีพ่อค้าคนกลางมากดราคาสินค้า ที่สำคัญลดรายจ่ายภายในครัวเรือน และได้อาหารที่ปลอดภัย ไว้บริโภคให้กับครอบครัวและคนรอบข้าง รวมถึงลูกค้าที่มาซื้อไปบริโภคด้วย” นางกัญจนา กล่าว.




ที่มา:http://www.kasetporpeangclub.com

1 ความคิดเห็น: